บ้านดงป่างิ้ว

         บ้านดงป่างิ้ว ตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 7 ตำบลมะขุนหวาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่  โดยได้รับชื่อจากลักษณะในอดีตที่เต็มไปด้วยต้นป่างิ้ว ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ขึ้นหนาแน่นในพื้นที่ ชื่อ “ดงป่างิ้ว” จึงสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

        สมัยก่อนเป็นชุมชนที่ยังไม่มีผู้นำไม่มีวัด แต่ได้มี พ่อต๋าว อารี ได้รวบรวมผู้คนมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านดงป่างิ้ว จนกลายเป็นชุมชนที่มีชาติพันธุ์ยองและเมืองอยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก แรกๆหมู่บ้านนี้จะเป็นชุมชนชาติพันธ์ุคนยอง สืบทอดมาจากลำพูนเนื่องจากบ้านดงป่างิ้วกับลำพูนห่างกันประมาณ 5-6 กิโลเมตร ซึ่งไม่ไกลกันมาก มาตั้งถิ่นฐานประมาณเมื่อปี 2470 แล้วมาตั้งรกราก เริ่มแรกยังไม่มีวัดและโรงเรียน ชาวบ้านในชุมชนสมัยก่อจึงอาศัยวัดข้างเคียงคือ วัดสันห่าวและวัดดงป่าซาง เป็นที่พึ่งทางจิตใจ

           มีอยู่ครั้งหนึ่งวัดสันห่าวมีงานที่คนพื้นเมืองเรียกว่า “การกุ๋ยสะลาก” หรืองานบุญทอดกฐินแบบล้านนา ชาวบ้านผู้ที่ศรัทธาต่างมาร่วมงานกัน โดยชาวบ้านพื้นที่ของวัดสันห่าว ได้ร่วมงานอยู่ภายในวัด แต่ผู้ศรัทธาจากบ้านดงป่างิ้วได้ร่วมงานบุญครั้งนี้เพียงแค่ด้านนอกของวัด จึงเกิดเป็นความน้อยใจ ว่าเราเป็นผู้ศรัทธาเช่นกันแต่ไม่สามารถร่วมงานอยู่ในวัดได้ ชาวบ้านดงป่างิ้วจึงรวมตัวกันสร้างวัดกันขึ้นในชุมชนของตนเอง จึงกลายเป็นวัดดงป่างิ้วที่สร้างขึ้นร่วมกันด้วยความศรัทธาและสามัคคีของคนในหมู่บ้าน วัดดงป่างิ้วสร้างในปีประมาณ พ.ศ.2481 แล้วได้นิมนต์เจ้าอาวาส องค์แรกคือครูบาอินคำ ญาณวโร มาจากจังหวัดลำพูน ที่ช่วยสร้างวัดและโรงเรียนเป็นรากฐานให้คนในชุมชน มี 2 ชุมชนที่อยู่ร่วมกันในบ้านดงป่างิ้ว คือชุมชนเมือง พูดเป็นภาษาไทยหรือภาษาเมือง และชุมชนยอง ที่ใช้ภาษายองเป็นส่วนมาก อยู่กันมาแบบถ้อยอาศัยกันมา หลังจากนั้น  ชื่อ “บ้านป่างิ้ว” จึงมาจากพื้นที่ที่มีต้นไม้งิ้วน้ำและต้นโพธิ์ทะเลขึ้นอยู่หนาแน่นในอดีต

ชุมชนแห่งนี้ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีวิถีชีวิตเรียบง่าย เป็นเอกลักษณ์ สังคมปลอดภัยและน่าอยู่
วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่มีการรวมตัวทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเย็บผ้า เครื่องเขินประยุกต์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์
รวมถึงสินค้าโอทอปเด่น ๆ เช่น การเพาะเห็ด การสกรีนผ้าเล่าเรื่อง งานจักสาน สมุนไพรแปรรูป และนวดสปา

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

  • วัดดงป่างิ้ว พื้นที่ของวัดในอดีตล้อมรอบด้วยดงป่างิ้ว ชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ ปัจจุบันสามารถมากราบไหว้สักการะพระพุทธรูปในวิหารและขอพรในเรื่องต่าง ๆ เช่น การงาน การเงิน เป็นต้น  วัดยังเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีผู้คนมาปฏิบัติธรรมในวันพระเป็นประจำ บรรยากาศร่มรื่นเงียบ สงบเหมาะแก่การพักผ่อนจิตใจ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางจัดงานบุญและประเพณีท้องถิ่น เช่น ตานก๋วยสลากและการฟังธรรมเทศนา วัดคงป่างิ้วยังคงสะท้อนพลังแห่งศรัทธาและความเชื่อของ ชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

  • สีมันตรารีสอร์ท เดิมเป็นบ้านพักนายไปรษณีย์หลังแรกในมณฑลพายัพ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสะท้อนวิถีชีวิตยุคแรกของการ สื่อสารในพื้นที่ ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงด้วยการเพิ่มหลังคาทรงล้านนาอันงดงาม ผสมผสาน ความเก่าแก่กับความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างลงตัว โดยนักท่องเที่ยวสามารถดื่มต่ำกับบรรยากาศย้อนยุคที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันร่มรื่น พร้อมสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมล้านนา ทำให้สีมันตรารีสอร์ทเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักความ สงบและประวัติศาสตร์ในเวลาเดียวกัน  เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรีในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 09.00–18.00 น.

  • บ้านปทุมมา เรือนไม้สองชั้นยกพื้นสูง สร้างโดยนายทา อารีมิตร ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของชุมชนในอดีต ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ ให้คงความงดงามของรูปแบบบ้านล้านนาโบราณ โดยนายมานิตย์ เขตสิทธิ์ และนางวลัยภรณ์ เขตสิทธิ์ บ้านปทุมมาไม่เพียงแต่สะท้อนถึงภูมิปัญญาชาวล้านนาในงานก่อสร้าง แต่ยังแสดงให้เห็นถึง ความใส่ใจในการเก็บรักษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมจะได้ สัมผัสกับบรรยากาศของอดีต ผสมผสานกับความอบอุ่นของวิถีชีวิตล้านนา ทำให้บ้านหลังนี้เป็น มากกว่าบ้าน แต่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

  • กาดหมั้ว (กาดบุญมี) เป็นตลาดยามเช้าที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และกลิ่นอายวิถีชีวิตของชุมชน ใน บรรยากาศที่คึกคักและอบอุ่น ตลาดแห่งนี้นำเสนอสินค้าท้องถิ่นหลากหลาย ทั้งผักผลไม้สดจาก สวน ของใช้พื้นเมือง และอาหารล้านนาแท้ ๆ ที่หาทานได้ยากความพิเศษของกาดหมั้วคือการเชื่อมโยงการค้าขายเข้ากับการทำบุญตักบาตร ทุกเช้าหลังการ ซื้อขาย ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจะร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตร สร้างกุศลและความสุขใจ ถือ เป็นเอกลักษณ์ที่ผสมผสานการดำรงชีวิตประจำวันกับวัฒนธรรมและศาสนาได้อย่างลงตัว ทำให้ กาดหมั้วไม่ใช่แค่ตลาด แต่ยังเป็นพื้นที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว